วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๔๖/๒๕๕๖ แนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน



ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๔๖/๒๕๕๖
แนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในประเด็น "ลดการบ้านของนักเรียน" และ "เครื่องแบบนักเรียน"


● การลดการบ้านนักเรียน
จากการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ข้อสรุปในการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๑ ตามนโยบายของ รมว.ศธ.โดยจะดำเนินการเป็น ๒ ระยะ ได้แก่ ๑) ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ โดยจะเน้นบูรณาการทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนการบ้านที่ต้องมีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา และจะต้องลดภาระงานของนักเรียนด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยต้องทำการบ้านมาก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
ดังนั้นในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นต้นไป นักเรียนทุกระดับชั้นในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จะมีภาระการเรียนในห้องเรียนลดลง และจะมีโอกาสเรียนรู้และทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น รวมทั้งจะไม่ใช้วิธีการที่ครูมีอำนาจเหนือนักเรียน ครูจะไม่สามารถให้การบ้านเด็กได้ตามใจชอบอีกต่อไป หากครูให้การบ้านเด็กจนเกิดความทุกข์ทรมาน ก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สพฐ.เพื่อให้เกิดการปรับปรุงต่อไป ๒) ระยะที่ ๒ ของการปฏิรูปหลักสูตร สพฐ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดใดบ้างที่มีมากเกินความจำเป็น เพื่อที่จะได้ตัดทอนและปรับปรุงต่อไป
มว.ศธ.ย้ำว่า เรื่องของการบ้านจะต้องพิจารณาในภาพรวมตามวัยของเด็ก ไม่สามารถดูเฉพาะบางช่วงหรือบางจุดได้ เพราะเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น เด็กอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น ก็ไม่ควรจะต้องเรียนมากและไม่ควรมีการบ้าน หรือหากมีก็ควรให้การบ้านในจำนวนที่น้อย แต่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็คงจะต้องเรียนหนักกว่า หรือมีการบ้านมากกว่าอยู่แล้ว ยกเว้นบางช่วงเวลาที่จะต้องเร่งรัดการเรียน หรือใช้เวลาทุ่มเทในการเตรียมตัวสอบมากขึ้น ก็อาจจะต้องลดการบ้านลง
"การบ้าน" จึงควรเป็นส่วนส่งเสริมและกระตุ้นเด็กมากกว่าที่จะทำให้เด็กเครียด จึงควรลดการบ้านที่ไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตามยังมีการบ้านบางประเภทที่เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นการบ้าน เช่น การกำหนดให้เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ เล่ม ฉะนั้นเด็กจะอ่านเมื่อไรก็ได้ ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ศธ.ต้องการให้การมาโรงเรียนของเด็กเป็นเรื่องสนุก เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจและรักการศึกษา เพราะหากเราทำให้เด็กกลัวการศึกษา หรือกลัวการมาโรงเรียนแล้ว เด็กก็คงไม่อยากมาเรียน ส่วนวิธีการต่างๆ ในการดำเนินการนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวทางดำเนินการที่จะกำหนดไว้แล้วว่าเด็กวัยใดควรจะเรียนรู้อะไร อย่างไร ตามความเหมาะสม



● เครื่องแบบนักเรียน
จากการที่สหพันธ์แรงงานและชมรมผู้ผลิตชุดเครื่องแบบนักเรียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.(ประเทศไทย) ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.ศธ.กรณีขอให้ทบทวนนโยบายการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนตามนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ จากการให้เงินผู้ปกครองไปซื้อชุดนักเรียน มาให้โรงเรียนจัดซื้อเหมือนเดิม เพราะสร้างภาระให้ผู้ปกครองที่ยากจนอยู่นอกเมือง ต้องมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาซื้อในเมือง
รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาและจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้วย เพราะในอดีตให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน และผู้ปกครองก็มาซื้อจากโรงเรียน กรณีนี้ตนเชื่อว่าหากโรงเรียนทราบถึงความต้องการของผู้ปกครอง ก็จะสามารถจัดหาเครื่องแบบนักเรียนที่มีคุณภาพและผ่านการรับรอง มอก.ได้อยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาได้เปลี่ยนวิธีการเป็นให้เงินกับผู้ปกครองไปเลือกซื้อเอง ซึ่งส่งผลถึงผู้ปกครองนักเรียนบางกลุ่มที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องเดินทางมาซื้อเครื่องแบบนักเรียนในเมือง จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ได้รับฟังจากชมรมฯ และจะหาวิธีแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ รมว.ศธ.เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างเพื่อยกฐานะให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานระดับกรม โดยกล่าวว่าในเรื่องนี้ได้มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการปรับแบบเล็กๆ ไม่ใช่ปรับโครงสร้างใหญ่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของการปรับโครงสร้าง ก็พบว่า กศน. มีภารกิจและงานจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรหลักอื่นๆ
แหล่งที่มา
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

30/01/2556
วิจารณ์ข่าว 
เห็นด้วย เนื่องจากในแต่ละวิชาครูส่วนใหญ่จะชอบให้การบ้านเยอะ และทำส่งไม่ทัน เนื่องด้วยเหตุนี้จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยลดการบ้านลง

ศึกษาธิการ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖

ศึกษาธิการ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖

รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกฎกระทรวงจำนวน ๒ ฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยได้ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๓๒ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ คือ
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๑๕) ซึ่งระบุว่า การแต่งกายและความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน คือ "นักเรียนชาย ไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน ๕ เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิง ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย.."


ต่อมามีการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มเติมจนเป็น กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๘) ลงวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งระบุว่า การแต่งกายและความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน คือ "นักเรียนชาย ตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิง ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย..
ดังนั้น หากตีความตามกฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๕ นักเรียนชายจะต้องไว้ผมด้านข้างและด้านหลังเกรียน แต่กฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๘ เปลี่ยนแปลงให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงไว้ ไม่ต้องเกรียนผมด้านข้างหรือด้านหลัง ซึ่งในทางปฏิบัติโรงเรียนยังคงยึดติดกับทรงผมเกรียนตามกฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎกระทรวงฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้เด็กไว้ทรงยาวแบบรองทรงได้
ส่วนทรงผมของนักเรียนหญิงนั้น กฎกระทรวงทั้ง ๒ ฉบับ กำหนดให้นักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้ แต่ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลเช่นกันที่จะให้ทรงผมนักเรียนหญิงของแต่ละโรงเรียนจะมีความแตกต่างกันไปตามดุลยพินิจของทางโรงเรียน เมื่อกฎกระทรวงกำหนดให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมยาวได้ นักเรียนหญิงของทุกโรงเรียนก็ควรอยู่บนแนวปฏิบัติเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะให้ ศธ.ทำข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไว้ผมยาวของนักเรียนหญิง เช่น หากไว้ผมยาวต้องรวบผมให้เรียบร้อย จากนั้นทุกโรงเรียนจะต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน โดยอนุญาตให้นักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือยาวเลยต้นคอได้แต่ต้องรวบผมให้เรียบร้อย
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องทรงผมนักเรียน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จัดทำหนังสือเวียน เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกแห่ง เพื่อกำชับว่าในเรื่องของทรงผมนักเรียนนั้น ต้องยึดกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ให้นักเรียนชายไว้ทรงยาวแบบรองทรงได้ และให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมสั้นหรือยาวได้

แหล่งที่มา
นวรัตน์ รามสูต บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
10/01/2556
วิจารณ์ข่าว
เห็นด้วยกับการที่กระทรวงศึกษาพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา  เนื่องจากบางคนอยากจะไว้ผมยาว เพราะผมบางคนมีลักษณะที่หยักโศก หรือชี้ฟู ถ้าไว้ผมสั้นจะดูไม่เรียบร้อย